4 เทคนิคการตัดสินใจที่ “เฉียบคมและฉับไว” แบบฉบับ Jeff Bezos ผู้ก่อตั้ง Amazon

11432

อเมซอน (Amazon) ถือได้ว่าเป็นบริษัทที่สุดยอดแห่งหนึ่งของโลก และคงไม่แปลกที่มันจะเกิดมาจากคนที่มีมันสมองสุดยอดเช่นกัน ความปราดเปรื่อง ปรัชญา และตัวตนที่ไม่เหมือนใครของผู้ก่อตั้งและประธานบริหารอย่าง เจฟฟ์ เบโซส์ ฝังรากลึกอยู่ในบริษัทอเมซอนมาหลายสิบปี ผู้คนจึงจับตามองการเล่าเรื่องวิธีการบริหารธุรกิจของเขาเป็นอย่างมาก แต่ละถ้อยคำที่แฝงไว้นั้น ไม่เพียงแค่ประกอบด้วยความคิดอันลึกซึ้งของเขาเท่านั้นด้วย แต่รวมถึงวิธีการจัดการงานต่างๆ ในบริษัทที่ประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลายเลยทีเดียว

“การตัดสินใจที่ดี คือการตัดสินใจที่มีคุณภาพและรวดเร็ว”

จดหมายประจำปีถึงหุ้นส่วนของเบโซส์ คือหนทางหนึ่งที่เปิดทางให้เราได้ทำความเข้าใจกับความคิดและการบริหารบริษัทยักษ์ใหญ่ของเขาได้ ซึ่งมันบอกกล่าวถึงวิธีต่างๆ ที่เบโซส์ใช้ในการต่อสู้ฟาดฟันเพื่อให้อเมซอนยังคงก้าวอย่างรวดเร็ว ซึ่งเทคนิคเหล่านี้คือสิ่งควรค่าแก่การอ่านอย่างยิ่ง และส่วนที่เบโซส์ได้พูดถึงและให้ความสำคัญก็คือ การตัดสินใจที่ “มีคุณภาพและรวดเร็ว” นั้นจะเป็นส่วนที่ดึงดูดความสนใจของเหล่าผู้นำได้ดีที่สุด

1. รู้ว่าควรตัดสินใจแบบไหน

ทุกการตัดสินใจมีความแตกต่าง บางครั้งต้องอาศัยการคิดอย่างลึกซึ้ง บางครั้งอาจต้องการเพียงความรวดเร็วและความสามารถขั้นพื้นฐานเท่านั้น โดยเบโซส์ได้กล่าวกับ Business Insider ว่า “หลาย ๆ ครั้งที่การตัดสินใจหนึ่งก็สามารถใช้ได้หลายวิธีคิด คุณจึงต้องไตร่ตรองให้ดีก่อน ว่าวิธีที่เลือกมานั้นเหมาะสมหรือยัง”

2. มีข้อมูลในมือแค่ 70% ก็เพียงพอแล้ว

ในโลกแห่งอุดมคติคุณอาจจะอยากรอจนกว่าจะรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องจนครบก่อนลงมือตัดสินใจในเรื่องใหญ่ๆ แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงและสภาพธุรกิจปัจจุบัน การรอจนกว่าจะได้ข้อมูลครบจะทำให้คุณตัดสินใจช้าเกินไป เบโซส์จึงเสนอตัวช่วยง่ายๆ ที่จะจัดการกับปัญหานี้ไว้ว่า “คุณควรตัดสินใจเมื่อได้รับข้อมูลแล้วประมาณ 70% จากทั้งหมดที่อยากได้ เพราะส่วนใหญ่ถ้ารอให้ถึง 90% มันก็สายไปแล้ว นอกจากนั้น การสังเกตเห็นข้อผิดพลาดในการตัดสินใจและแก้ไขได้อย่างทันท่วงทียังทำให้การตัดสินใจที่ผิดพลาดไม่ก่อให้เกิดความเสียหายเท่ากับการตัดสินใจที่ช้าเกินไปด้วย”

3. แสดงออกว่าไม่เห็นด้วย แต่ก็ยอมรับข้อตกลง

การแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยอย่างเหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญต่อการอภิปรายและประเมินไอเดียกัน
ให้ได้เต็มที่ เพราะการซ่อนความคิดขัดแย้งไว้ใต้พรมจะทำให้เกิดปัญหาในภายหลังได้ เบโซส์จึงแนะนำว่าคุณสามารถรักษาสมดุลด้วยการใช้วิธี “แสดงออกว่าไม่เห็นด้วย แต่ก็ยอมรับข้อตกลง” (Disagreement and commit)

เขาอธิบายว่า “หากคุณมีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะตัดสินใจอย่างหนึ่งแต่ไม่ได้รับมติเป็นเอกฉันท์  คุณควรลองเสนอว่า ‘เอาล่ะ ถึงแม้เราจะไม่ได้มีความเห็นตรงกัน แต่คุณจะลองเสี่ยงดวงกันดูหน่อยไหม? ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยหรอกนะ แต่ขอให้ยอมรับข้อตกลงนี้ก่อนได้ไหม?’ การพูดเช่นนี้ทำให้พวกเขาจะยอมตกลงได้ แม้จะไม่แน่ใจในผลที่จะตามมาก็เถอะ”

นี่เป็นวิธีการที่ใช้ได้ในทุกระดับขององค์กร โดยเบโซส์แนะนำว่า “นี่เป็นวิธีที่ใช้ได้แม้กระทั่งกับคนที่เป็นหัวหน้า ผมเองก็แสดงออกว่าไม่เห็นด้วย แต่ก็ยอมรับในการตัดสินใจของคนในบริษัทเสมอ ไม่ใช่แค่สักแต่พูดนะ คุณต้องยอมรับในการตัดสินใจนั้นจริงๆ ด้วย”

4. แจกแจงปัญหาขัดแย้งที่แก้ได้ยาก

แม้หลายๆ ครั้งวิธี “Disagreement and commit” จะใช้ได้ผล แต่ก็ยังคงมีอีกหลายปัญหาขัดแย้งที่ฝังลึก จึงต้องมีการขยายประเด็นต่อจนเข้าใจก่อนจะตัดสินใจอะไรไป คุณต้องใช้ความรวดเร็วในการแยกแยะประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อให้ฝ่ายที่อยู่ระดับสูงขึ้นไปพิจารณาต่อให้ได้

เบโซส์ได้พูดไว้อีกว่า “จงจัดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเสียแต่เนิ่นๆ เมื่อคนในทีมมีเป้าหมาย และมุมมองต่างกัน ย่อมจะทำให้องค์กรเกิดความยุ่งเหยิง โดยที่ไม่ว่าจะประชุมถกเถียงกันนับครั้งไม่ถ้วนก็ไม่สามารถแก้ได้ ทั้งยังมีแต่จะทำให้งานเดินไปได้ช้า และดูดกลืนพลังที่มีไปหมด หากไม่หยิบยกประเด็นปัญหาขึ้นมาแจกแจงให้ชัดเจน สุดท้ายแล้ว การตัดสินใจและภาระก็จะมาตกอยู่กับคนที่ยังรับมือไหวอยู่”

 

Source: Inc