6 เคล็ดลับ ช่วยให้คุณกลายเป็น “คนกล้าพูด” ได้อย่างมั่นใจ

76881

คุณรู้หรือไม่ว่า?! ร้อยล่ะ 75 ของมนุษย์หวาดกลัวการพูดในที่สาธารณะ

ครั้งหนึ่ง Patti Johnson ซีอีโอของบริษัท PeopleResults ได้พูดคุยกับกลุ่มผู้ประกอบการดาวรุ่งหน้าใหม่ และเธอถูกถามคำถามว่า “ฉันควรทำอย่างไรเมื่อรู้สึกเกร็งเวลาที่พูดในที่สาธารณะ? เพราะฉันไม่เคยมีความมั่นใจเท่าที่หวังไว้ได้เลยสักครั้ง” ซึ่งแน่นอนว่าเราทุกคนก็น่าจะเคยเจอความรู้สึกแบบนี้กันทั้งนั้น

ด้วยความที่ Patti ทำงานเป็นทั้งที่ปรึกษา เจ้าของธุรกิจ และนักเขียน การพูดกับกลุ่มคนทั้งขนาดเล็กและใหญ่จึงเป็นส่วนที่สำคัญมากสำหรับงานที่เธอทำ ซึ่งเธอเองก็เคยต้องเอาชนะความกลัวการพูดในที่สาธารณะไม่ต่างกับคนอื่นๆ

และนี่ก็คือเคล็ดลับของเธอ ในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและความคิดให้กลายเป็นคนที่กล้าพูดมากยิ่งขึ้น

1. เลิกพยายามเป็นคนอื่น

ถ้าคุณเป็นคนตลก จงพูดอย่างมีอารมณ์ขัน ถ้าคุณเป็นคนสบายๆ ก็จงพูดให้สบายๆ ไม่ต้องมีพิธีรีตอง มันไม่มีวิธีที่ถูกต้องเพียงหนึ่งเดียวในการเป็นนักพูดที่ดีหรอก ให้คิดซะว่าเป็นการแบ่งปันความคิดและประสบการณ์ของคุณเพื่อช่วยเหลือคนอื่น แทนที่จะมองว่าเป็นการแสดง

“ฉันเคยพบบุคคลที่น่าสนใจมากมายที่สวมหน้ากากทันทีที่อยู่ต่อหน้าผู้คน หากคุณมีวิธีการสื่อสารตอนขึ้นพูดที่แตกต่างกับตอนพูดคุยกับเพื่อนๆ ในเวลาปกติทั่วไป แปลว่าคุณอาจกำลังสวมใส่บทบาทนักพูดแทนที่จะเป็นตัวของตัวเอง” Patti กล่าว

จงปล่อยให้ตัวตนของคุณฉายออกมาขณะที่พูด แล้วผู้ชมจะสามารถเชื่อมต่อกับคุณได้เองไม่ว่าคุณจะมีข้อบกพร่องหรือไม่ก็ตาม

2. ใส่ใจกับการแบ่งปันเนื้อหาความรู้ ไม่ใช่การยอมรับจากผู้ชม

นี่ก็เคยเป็นปัญหาใหญ่สำหรับ Patti เช่นกัน เธอบอกว่าถ้าคุณเอาแต่คิดว่าอยากพูดให้ดี คุณก็จะใส่ใจแต่ตัวคุณเอง จริงๆ แล้ว คุณควรจะพูดโดยหวังให้ผู้ชมได้รับไอเดียใหม่ๆ ที่สามารถนำไปใช้ได้หรือสามารถให้กำลังใจพวกเขาได้

ดังนั้น จงถามว่า “ผู้คนได้รับอะไรจากฉันบ้างไหม?” แทนการคิดว่า “หวังว่าพวกเขาคงจะชอบฉันนะ”

3. ฝึกฝนอย่างหนัก

Patti ก็หวังว่าจะหาวิธีที่ง่ายกว่านี้พบแต่ก็ยังไม่เคยเจอซักที เพราะยิ่งเธอได้พูดบ่อยเท่าไหร่ ก็ยิ่งรู้สึกเกร็งน้อยลงเท่านั้น คงคล้ายกับการเล่นกีฬานั่นแหละ การฝึกฝนมาจนมั่นใจและไม่เกร็งเวลาเล่นจะทำให้คุณไม่เสียสมาธิไปกับเสียงร้องของฝูงชนที่มาชมการแข่งขัน

ลองมองหาตัวช่วย เช่น การเข้าคอร์สฝึกพูดในที่สาธารณะ หรืออย่างบางคนที่อาสาไปเป็นผู้ช่วยอำนวยความสะดวกในการประชุมผู้นำต่างๆ เพื่อฝึกความมั่นใจ คุณอาจจะลองอาสาไปพูดเรื่องที่ตนเชี่ยวชาญในที่ประชุมท้องถิ่นหรือสมาคมต่างๆ ดูก่อน การหาประสบการณ์นอกหน้าที่การงานก็ถือเป็นวิธีที่ไม่เลวทีเดียวที่จะได้เรียนรู้และฝึกฝนตนเอง เพราะไม่มีการฝึกวิธีไหนอีกแล้วที่จะดีไปกว่าการได้ออกไปพูดต่อหน้าผู้คนจริงๆ

4. เรียนรู้จาก TED Talks

มีวิดีโอของ TED จำนวนนับไม่ถ้วนที่คุณสามารถนำมาเป็นแนวทางในการฝึกพูดได้ นั่นเป็นเพราะพวกเขาเหล่านี้ใช้เวลาหลายต่อหลายสัปดาห์เลยในการเตรียมตัวเพื่อจะได้พูดให้ดีที่สุด จงสังเกตวิธีที่พวกเขาใช้ถ่ายทอดความคิดและเชื่อมต่อกับผู้ชม อะไรบ้างที่คุณสามารถนำมาใช้กับตัวเองได้? และพวกเขาดึงความสนใจของผู้ชมตั้งแต่แรกได้อย่างไร?

อีกสิ่งที่ทำให้ Patti รักในการรับชม TED ก็เพราะมันบ่งบอกได้ว่าการที่พูดให้ดีหรือพูดให้เก่งนั้นล้วนไม่มีคำตอบที่ชัดเจนตายตัว และไม่ได้จำกัดแค่ว่าต้องกล้าแสดงออกหรือเฮฮาด้วย เพราะการนำเสนอที่ยอดเยี่ยมนั้นขึ้นอยู่กับบุคลิกและสไตล์การพูดของคุณเองว่าจะทำอย่างไรให้สิ่งที่ต้องการจะสื่อนั้นสามารถดึงดูดความสนใจจากผู้คนได้

5. อัดวิดีโอตอนตัวเองพูด

ก่อนจะบอกว่า ไม่มีอุปกรณ์หรือเงินมากพอ ขอบอกเลยว่ามันง่ายมากๆ ไม่ต้องลงทุนอะไรเลยด้วยซ้ำ แค่หยิบโทรศัพท์มือถือของคุณออกมาตั้งไว้เวลาที่คุณต้องออกไปพูดในที่ประชุม แล้วขอให้เพื่อนร่วมงานช่วยติชม ซึ่งข้อนี้สำคัญมากเพราะภาพที่เราคิดไว้กับภาพที่คนอื่นเห็นนั้นไม่ได้ตรงกันเสมอไป

Patti กล่าวว่าเธอเป็นคนช่างคุยเลยมักจะเดินไปมาเสมอเมื่อต้องพูดต่อหน้าผู้คน การถ่ายวิดีโอเก็บไว้ทำให้เธอรู้ตัวว่าบางครั้งก็เดินเยอะไป จึงสามารถจำกัดการเดินตัวเองให้น้อยลงได้ บางคนก็ได้เห็นว่าตัวเองมองสไลด์บ่อยกว่าผู้ชม ใช้โทนเสียงไม่เหมาะสมกับประโยคบ้าง หรือบ้างก็พูดเร็วเกินไป แล้วจึงได้กลับไปฝึกพูดให้ช้าลง หัดเว้นวรรคเพื่อให้คำพูดมีพลังมากขึ้น ซึ่งแค่การดูวิดีโอตัวเองนี่แหละ ที่ทำให้พัฒนาการพูดของเราส่งผลต่อผู้ชมได้ดีขึ้น เพราะมันทำให้เราได้เห็นภาพที่คนอื่นมองเราขณะพูดนั่นเอง

6. จดจำเนื้อหาที่จะพูดได้อย่างแม่นยำ

คุณไม่จำเป็นที่ต้องท่องจำทุกอย่างที่จะพูดหรอกนะ แต่ควรจะทวนประเด็นสำคัญหลายๆ ครั้ง จะได้คุ้นเคยและแม่นยำ เตรียมตัวเองให้พร้อม การรู้จริงในสิ่งที่พูดจะช่วยลดความประหม่าหรือตื่นเต้นลงได้

Patti เองก็มักจะทวนเนื้อหาซ้ำสองครั้งเสมอแม้จะเป็นเรื่องที่คุ้นเคยเป็นอย่างดีก็ตาม โดยจะจดจำประเด็นที่เป็นแกนหลักไว้ให้ขึ้นใจ แล้วค่อยพลิกแพลงหรือด้นสดไปตามสถานการณ์

คุณเองก็สามารถทำได้ ขอเพียงใส่ใจในสิ่งที่อยากให้ผู้ชมได้รับมากกว่าภาพลักษณ์ของตัวเอง ฝึกฝนให้มากเข้าไว้ แล้วทุกครั้งที่คุณได้ขึ้นพูดต่อจากนี้ไป ก็จะรู้สึกว่ามันง่ายขึ้นกว่าเดิมมากเลยทีเดียว

 

Source: Success