11 เทคนิค ไม่ว่าคุณจะยุ่งแค่ไหน ก็มีเวลาให้กับการอ่านหนังสือ

16191

พนันได้เลยว่า ในโลกนี้ย่อมมีคนประเภทที่ต่อให้ยุ่งวุ่นวายกับงานขนาดไหน ก็ยังมีใจให้กับการอ่านเสมอ เพราะการอ่านถือเป็นตัวจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ชั้นดี การอ่านช่วยให้เข้าใจปัญหายุ่งยากซับซ้อนในชีวิต และช่วยให้ผู้คนทั้งหลายเติบโตได้อย่าง “ผู้รู้” ขณะเดียวกันก็เป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ผ่อนคลายจากความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า แต่ปัญหาที่คนส่วนใหญ่มักจะพบคือ “จะเอาเวลาที่ไหนไปอ่านดีล่ะ?”

จากสถิติและบทความข่าวสารที่ผ่านตาอยู่ไม่ขาดสาย เห็นได้ชัดเลยว่านับวันผู้คนก็ยิ่งอ่านหนังสือน้อยลง มีงานวิจัยหนึ่งในปี 2004 เผยว่าค่าเฉลี่ยการอ่านหนังสือของคนในสหรัฐอเมริกาคือ 12 เล่ม ต่อปี และมีค่ามัธยฐานเพียง 5 เล่มเท่านั้น ดังนั้นถ้าคุณเกิดความคิดอยากจะทำลายสถิติที่น่าเศร้านี้และเพิ่มจำนวนหนังสือที่อ่านต่อปีขึ้นมาล่ะก็ บทความนี้มี 11 เทคนิคดีๆ ในการจัดสรรเวลามาฝาก!

1.ยืมหนังสือมาให้เยอะเกินกว่าจะอ่านหมด

library

ถ้าคุณชื่นชอบการยืมหนังสือจากห้องสมุดล่ะก็ ขอแนะนำให้ยืมมามากกว่าจำนวนเล่มที่จะอ่านไหว เพราะการมีหนังสือที่ต้องคืนในเวลาจำกัดมากองตั้งไว้บนโต๊ะ จะทำให้เกิดความรู้สึกอยากรีบอ่านให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เผลอๆ จะช่วยให้อ่านได้มากกว่าที่ตั้งใจไว้ด้วยซ้ำ

หรือถ้าปกติชอบอ่านแบบ e-book การดาวน์โหลดหนังสือออนไลน์น่าอ่านมาเก็บไว้ในอุปกรณ์พกพา ก็ช่วยให้เรารู้สึกอยากอ่านมากขึ้นได้เช่นกัน

2.อ่านหนังสือมากกว่าหนึ่งเล่มไปพร้อมๆ กัน

typewriter

คนส่วนใหญ่มักจะอ่านหนังสือกันทีละเล่ม แต่ก็มีอีกหลายคนที่ชอบอ่านหลายเล่มไปพร้อมๆ กัน เนื่องจากบางเล่มเหมาะจะอ่านกลางคืน (เช่น พวกวรรณกรรม) ในขณะที่บางเล่ม (หนังสือประเภท Non-fiction) ก็เหมาะที่จะอ่านช่วงกลางวันมากกว่า โดยเฉพาะหนังสือประเภทส่งเสริมการพัฒนาตนเองยิ่งสามารถอ่านไปพร้อมๆกับเล่มอื่นๆได้ เนื่องจากมันต้องการระยะห่างระหว่างการอ่านในแต่ละบท เพื่อที่จะสามารถทำตามคำแนะนำในหนังสือได้อย่างช้าๆ และเป็นขั้นเป็นตอน

3.ตั้งเป้าหมายในการอ่านหนังสือแต่ละบท

ถ้าหากไม่ชอบการอ่านทีละเป็นปึกๆ ก็จัดการแบ่งสัดส่วนและตั้งเป้าหมายไว้เลย เช่น ท้าทายตัวเองให้อ่านให้จบ 50 หน้าถึงจะยอมหยุดอ่าน หรืออ่านให้จบบทหนึ่งก่อนถึงจะยอมลุกไปทำอย่างอื่น และในครั้งต่อๆไปก็ค่อยๆ เพิ่มปริมาณในการอ่านให้มากขึ้น ซึ่งจำนวนหน้าที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวันย่อมทำให้เกิดความเคยชินกับการอ่านที่มากขึ้น จนกลายเป็นเรื่องปกติไปโดยปริยาย

4.อย่ากังวลว่า “ควรจะต้อง” อ่านอะไร

จริงอยู่ว่าหนังสือที่ได้รางวัล ‘หนังสือดีเด่น’ อาจสร้างแรงบันดาลใจที่ดีได้ แต่ไม่ว่าจะดีอย่างไร อย่างน้อยก็ขอให้อ่าน ‘เพื่อตัวเอง’ ดีกว่า (อ่านในสิ่งที่ตัวเองชอบ หรืออยากเรียนรู้) เนื่องจากการกดดันให้ตัวเองต้องอ่านในสิ่งที่คนอื่นบอกว่าดี หรือ ‘ควรอ่าน’ ย่อมให้ประโยชน์เพียงด้านเดียวเท่านั้น แต่หากอ่านในสิ่งที่สนใจและสนุกไปกับมัน คุณจะพบว่าตัวเองสามารถอ่านได้มากกว่า แถมยังรู้สึกตื่นเต้นสนุกสนานไปกับเรื่องที่อ่านอีกด้วย

5.ฝึกการอ่านเร็ว

ถ้าหากอยากอ่านให้มากขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ ก็ต้องอ่านให้เร็วขึ้น! ซึ่งการฝึกอ่านเร็วนั้นมีเทคนิคที่หลากหลายมาก เช่น การอ่านจับกลุ่มคำแทนที่จะอ่านแบบ ‘คำ-ต่อ-คำ’ บังคับให้สายตากวาดผ่านตัวอักษรให้เร็วขึ้นด้วยการใช้ไม้บรรทัดหรือปากกาเลื่อนตามตัวอักษร หรือไม่ก็ใช้วิธีกลั้นหายใจแล้วพยายามอ่านให้จบหนึ่งย่อหน้า (วิธีนี้จะช่วยให้เรา ‘ได้ยิน’ เสียงที่อ่านในหัวได้อย่างชัดเจนมากขึ้น)

6.เตรียม e-book ที่จะอ่านรอไว้ในอุปกรณ์พกพาทุกเครื่อง

e-book

ถ้าคุณชื่นชอบการอ่าน e-book ล่ะก็ ขอแนะนำให้มีแอพพลิเคชั่นในการอ่านหนังสือออนไลน์บนอุปกรณ์พกพาทุกชนิดเพื่อที่ว่าจะสามารถหยิบขึ้นมาอ่านเมื่อไหร่ก็ได้ตามต้องการ ยิ่งถ้าสามารถเชื่อมต่อแอพฯ เหล่านั้นบนอุปกรณ์แต่ละเครื่องได้ยิ่งดี เพราะจะหยิบมาอ่านระหว่างรอเข้าคิว ระหว่างรอแม่บ้านทำความสะอาดห้อง หรือแม้แต่ช่วงเวลาพักระหว่างวันผ่านอุปกรณ์เครื่องไหนก็ย่อมทำได้สบายๆ ที่สำคัญคือ หลังจากผ่านไปหนึ่งวันคุณอาจจะพบว่าตัวเองอ่านหนังสือได้เป็นสิบๆหน้า โดยใช้เวลาว่างนิดๆ หน่อยๆ ในระหว่างวันแค่นั้นเอง

7.อ่านหนังสือก่อนนอน

มีการพิสูจน์แล้วว่า การอ่านวรรณกรรมหรือหนังสือให้ความรู้ที่เพลิดเพลินก่อนนอนนับเป็นวิธีการผ่อนคลายความเมื่อยล้าในแต่ละวันที่ดีวิธีหนึ่ง แถมยังช่วยให้หลับสบายอีกด้วย ในทำนองเดียวกัน หากลองอ่านสักสองสามหน้าในตอนเช้า และอีกบทหนึ่งหลังมื้อเที่ยงระหว่างรอเข้างานกะบ่ายให้เป็นนิสัยได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดีเช่นกัน!

8.หาเพื่อนอ่าน

เพื่อน

ลองหาเพื่อนรอบตัว หรือไม่ก็เพื่อนบนโลกออนไลน์ที่กำลังสนใจอ่านหนังสือเล่มเดียวกันดู การได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกับผู้อื่นเกี่ยวกับเรื่องที่อ่านจะช่วยให้การอ่านก้าวหน้าขึ้นได้มาก อย่างน้อยคุณก็คงไม่อยากถูกทิ้งให้อ่านค้างอยู่คนเดียวใช่ไหมล่ะ?

9.ติดตามความคืบหน้าในการอ่านผ่านโลก online

อ่าน

มีเว็บไซต์อยู่มากมายที่บทความที่มีคุณภาพที่คุ้มค่าต่อการอ่าน เช่น Sumrej.com(เว็บนี้ไง!) ก็เป็นหนึ่งในเว็บที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย! นอกจากจะได้ความเพลิดเพลินแล้ว ยังสะดวกสบายอ่านได้ทุกที่ทุกเวลาอีกด้วย เว็บอ่านหนังสือออนไลน์บางเว็บสามารถบันทึกรายการหนังสือที่อยากอ่านไว้เผื่อในวันข้างหน้า หรือเขียนวิจารณ์หนังสือที่เคยอ่านมาแล้วก็ได้ แถมบางเว็บไซต์ยังสามารถค้นหารายการแนะนำตามความสนใจของแต่ละคนได้ด้วย

10.เลิกอ่านบทความข่าวสารไร้สาระ

ถ้าต้องการจะหาเวลาเพิ่มในการอ่านหนังสือ ย่อมหมายถึงต้องตัดเวลาในการทำกิจกรรมอื่นๆออกไปบ้าง และหนึ่งในกิจกรรมที่ควรค่าแก่การตัดออกไปคือการอ่านข่าวไร้สาระนั่นเอง แทนที่จะอ่านสุ่มไปเรื่อยแบบนั้น สู้เอาเวลามาอ่านหนังสือดีๆ ที่มีความลุ่มลึกย่อมดีกว่าแน่นอน!

11.ท้าทายตัวเอง “Reading Challenge”

ในทำนองเดียวกับข้อสาม ให้ลองท้าทายตัวเองในการอ่านโดยตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่า ในปีๆนี้ จะอ่านหนังสือทั้งหมดกี่เล่ม และถ้าจะให้ดี ควรตั้งเป้าเอาไว้ให้สูงกว่าความเป็นไปได้เสียหน่อย เนื่องจากการท้าทายแนวนี้จะเป็นแรงกระตุ้นและผลักดันที่ดีในการที่จะพยายามไปให้ถึงเป้าหมาย รับรองเลยว่า หลังจากหนึ่งปีผ่านไปคุณจะต้องประหลาดใจกับจำนวนหนังสือที่เคยอ่านไปเลยทีเดียวล่ะ!

Source : Lifehack